วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คลังข้อมูลงานวิจัยไทย

คลังข้อมูลงานวิจัยไทย
ภาณุวัฒน์ ยาวศิริ
Community Development  Centre
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
               การสัมมนาเรื่อง  คลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository : TNRR) ณ โรงแรมเมโทรโปล  จังหวัดภูเก็ต ในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2556  นำโดยนางสาวเพชรา สังขะวร  ผู้อำนวยการภารกิจข้อมูลวิจัยและการบริหารจัดการข้อมูล  ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ได้ดำเนินการจัดทำคลังข้อมูลวิจัยในประเทศไทย  โดยการรวม  “5ส+1 วช” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัย   โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 5 ข้อ  คือ  หนึ่ง เป็นฐานข้อมูลสำหรับสร้างโจทย์วิจัย  ต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน  ทั้งหน่วยงานให้ทุนและสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  สอง เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของงานวิจัยก่อนการพิจารณาทุน  สาม เพื่อตรวจสอบภาระการทำงานวิจัยของนักวิจัย สี่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพานิชย์ นโยบาย พื้นที่ สาธารณะ วิชาการ ห้า เป็นระบบติดตามงานวิจัยร่วมกันของหน่วยงานที่สนับสนุนให้ทุนวิจัย    
               ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก คือ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)  สำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน)  สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว)  สถาบันวิจัยระบบสาธารสุข (สวรส) สำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ)  และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช)   เพื่อให้การศึกษา ค้นคว้าวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้  ดำเนินการจัดทำคลังข้อมูลวิจัยไทยให้เป็นระบบ  ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินการดังต่อไปนี้
1.         ระบบฐานข้อมูลโครงการวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว  TNRR 1
วิทยากรบรรยายในระบบฐานข้อมูลโครงการวิจัยทำดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว  ซึ่งบรรยายโดย
ผู้อำนวยการภารกิจข้อมูลวิจัยและการบริหารจัดการข้อมูล นางสาวเพชรา สังขะวร  ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถใช้งานได้แล้ว นักวิจัยหรือผู้สนใจรายละเอียด เข้าไปค้นคว้าได้ที่ URL :http:/www.tnrr.in.th  มีหน่วยงานทั้งหมด  22 หน่วยงาน  มีข้อมูลมากถึง  144,462  รายการ   ซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลที่มีความสัมพันธ์และใช้ข้อมูลที่มีความเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนกันได้ถึง 5 ระบบ   การเชื่อมโยงแบบนี้จัดทำโดยหน่วยงานที่แตกต่างกัน  รูปแบบและเทคโนโลยีการจัดเก็บที่แตกต่างกัน   โดยการนำเอาวีธีเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับ TNRR  การสร้างฐานข้อมูลใหม่โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่มี OAI-PMH  เช่น Dspace  เปลี่ยนซอฟท์แวร์ที่บริหารจัดการฐานข้อมูลให้มี  OAI-PMH , ใช้ซอฟท์แวร์ตัวช่วยเพื่อสร้าง OAI-PMH และใช้ IR Data Centre
2.         ระบบฐานข้อมูลนักวิจัยและระบบรายงานแบบ  Expert Finder
นายสันติพงษ์  ไทยประยูร  จาก  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)
โดยใช้  VIVO + Anti-kobpea  ในฐานข้อมูลมีนักวิจัยทั้งหมด   99,762 คน  โดยมีข้อมูลที่มีนักวิจัยที่มีจำนวนงานวิจัยมากที่สุดคือ อุทัย คันโท  มีผลงานมากถึง  289 เรื่อง  , ชำนาญ ฉัตรแก้ว  183 เรื่อง และ
สุกัญญา  จัตตุพรพงษ์ 173 เรื่อง  ตามลำดับ  เป็นการค้นหานักวิจัยโดยใช้  Expert finder
3.         ระบบฐานข้อมูลโครงการวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (On-going)
บรรยายโดย  ผศ.วุฒิพงษ์ เตชะดำรงสิน  รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับสร้างโจทย์วิจัย  ต่อยอดงานวิจัยร่วมกันทั้งหน่วยงานที่ให้ทุน (5ส+1วช) เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของงานวิจัยก่อนการพิจารณาทุน  เพื่อตรวจสอบภาวะการทำงานของนักวิจัย  โดยมีระบบติดตามโครงการวิจัย (On-going) คือ ออกสัญญาการทำวิจัย รายงานความก้าวหน้าระยะที่หนึ่ง  รายงานความก้าวหน้าระยะที่สอง  ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์  สีเขียวหมายถึง เป็นไปตามระยะเวลา ส่วนสีเหลืองหมายถึง ล่าช้า
4.         ระบบฐานข้อมูล  Single Window & Data Entry
วิทยากรบรรยายโดย  นางสาวสุธีรา  อาจเจริญ  จากสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส)
โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัย  หรือผู้ที่ยื่นขอทุนจากผู้ให้ทุนวิจัยของประเทศในช่องทางเดียว  เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ให้ทุนและนักวิจัย  เพื่อลดเวลาการพิจารณาหัวข้อเสนอโครงการลดความซ้ำซ้อนของงานวิจัย  เป็นฐานข้อมูลข้อเสนอโครงการวิจัยของประเทศ  โดยการใช้โครงสร้างระบบชื่อ METADATA คาดว่าจะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในปีงบประมาณ 2557 (1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป)
5.         ระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยที่รัฐสนับสนุน (Government Funded -
Research Market Place)  วิทยากรบรรยายคือ นายนนทวัฒน์ มะกรูดอินทร์  ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สทวน)  โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ทิศทางในการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร    โดยมีแนวทางในการดำเนินงานคือ  พิจารณาจำแนกผลงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด   สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันสร้างระบบตลาดกลางรวบรวมผลงานวิจัยโดยเชื่อมโยงกับมาตรการต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  มาตรการสนับสนุนทางการเงิน มาตรการทางภาษี   และปัจจัยเอื้อต่างๆในภาคเอกชน  หรือการใช้ Market Place  โดยพิจารณาระบบตลาดกลางรวบรวมผลงานวิจัยโดยกำหนดให้มีผู้ดูแลและกำกับ  รวมทั้งติดตามการดำเนินงาน  ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเสนอ  Product Champion เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆที่แต่ละหน่วยงานวิจัยจัดทำอยู่ให้เกิดระบบกลางการรวบรวมผลงานวิจัย
               สรุปได้ว่า  การจัดทำคลังข้อมูลวิจัยไทย (TNRR) ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญดังต่อไปนี้ คือ ฐานข้อมูลวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว  ฐานข้อมูลนักวิจัยและแบบรายงาน (Expert Finder)   ฐานข้อมูลโครงการวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ(On-going)  ระบบฐานข้อมูลเดียว (Single Window & Data Entry) และฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยที่รัฐสนับสนุน (Government Funded Research Market Place)    คลังข้อมูลวิจัยไทย TNRR มิได้นำข้อมูลมาเก็บไว้รวมกัน  ต่างคนต่างเก็บ แต่มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลเท่านั้น

             

อ้างอิง

เพชรา  สังขะวร. 2556.  คลังข้อมูลวิจัยไทย . สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 จาก www.tnrr.in.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น